ระวังเสียสิทธิ์ “เงินทดแทนการขาดรายได้” ผู้ว่างงานต้องได้จากประกันสังคม

  • 23 พ.ค. 2566
  • 6594
หางาน,สมัครงาน,งาน,ระวังเสียสิทธิ์  “เงินทดแทนการขาดรายได้” ผู้ว่างงานต้องได้จากประกันสังคม

 

หากตอนนี้คุณกำลังว่างงาน หรือถูกจ้างให้ออกจากงาน JOBBKK.COM ขอบอกว่า ประกันสังคมยังคุ้มครองอยู่ ถ้าคุณไม่ได้ออกจากงานเพราะทำผิดกฎหมาย หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

สำนักงานประกันสังคมจะนำเงินที่คุณจ่าย 5% ทุกๆ เดือน มาช่วยเหลือคุณด้วยการให้เงินเดือน พร้อมหางานให้คุณ

 

สิทธิประกันสังคมของผู้ว่างงาน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1.จ่ายเงินสมทบประกันสังคมแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย อาทิ ถูกจ้างออกเพราะบริษัทปิดตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจ

2.มีระยะเวลาในการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป

3.ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน

4.รายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางาน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

5.เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานตามที่จัดให้

6.ไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

7.ไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณีดังต่อไปนี้

7.1 ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

7.2 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

7.3 ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง

7.4 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร

7.5 ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

7.6 ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

7.7 มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพอยู่แล้ว

 

สิทธิ์ที่คุณจะได้รับประโยชน์ทดแทนในระหว่างการว่างงาน มีดังนี้

กรณีถูกเลิกจ้าง

 ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำ (อัตราค่าจ้างจริงต่ำสุด) เดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน (อัตราค่าจ้างจริงสูงสุด) เดือนละ 15,000 บาท เช่น  ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท ผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินเดือนที่คิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท หรือเท่ากับ 15,000 x 50/100 = 7,500 บาท

 

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 3,000 บาท

 

นอกจากนี้ เมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพและเสียชีวิต) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีก 6 เดือน

กรณีถูกเลิกจ้าง จะต้องอายุไม่เกิน 55 ปี จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน จะต้องขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง หากเกิน 30 วัน จะไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ครบถ้วน และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง แต่รวมกันไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีว่างงานเพราะลาออกเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

 

ขั้นตอนและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน

1. ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ว่างงาน

2. กรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน

3. กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน

4. เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิแก่ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน เดือนละ 1 ครั้ง

 

หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) สามารถดาวน์โหลดที่www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=811 หรือขอรับที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน

2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

4. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนได้

5. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 9 ธนาคาร ดังนี้

                     1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

                     2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

                     3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

                     4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

                     5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

                     6) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 

                     7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

                     8) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

                     9) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

 

นอกจากต้องไปขึ้นทะเบียนตามเวลาที่กำหนดแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับทุกเงื่อนไขตามที่ประกันสังคมกำหนดด้วยนะครับ จะได้ไม่เสียสิทธิประโยชน์ที่คุณควรได้รับและยังเป็นโอกาสให้คุณได้งานใหม่อีกด้วย

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.

 

ขอบคุณข้อมูล  :     สำนักงานประกันสังคม

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top