ผู้สมัครงาน
ใครที่สนใจงานด้าน QA QC QS และอยากทราบว่า
หน้าที่ ลักษณะงานเป็นยังไง ? คุณสมบัติคนทำงานต้องเป็นแบบไหน ? 3 ตำแหน่งนี้ต่างกันอย่างไร ?
เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวก่อนสมัครงาน แบบเข้าใจง่ายๆ JOBBKK มีคำตอบให้คุณครับ
QA (Quality Assurance) หรือการประกันคุณภาพ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ นักวางแผนเพื่อการผลิตสินค้าหรือบริการที่ได้มาตรฐาน มีหน้าที่ในการวางแผนล่วงหน้าให้ขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือบริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่างๆ และนำไปสู่สินค้าหรือบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าสูงสุด
และเมื่อสินค้าหรือบริการผ่านการ QC (Quality Control) แล้ว ก็ต้องนำสินค้าหรือบริการมาตรวจสอบอีกครั้ง หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น QA ต้องนำมาวิเคราะห์พร้อมวางแผน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และกำหนดแนวทางในการป้องกันการเกิดปัญหาในระยะยาวด้วย
ส่วนคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หลายองค์กรจะกำหนดวุฒิป.ตรี ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ และส่วนใหญ่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO ซึ่งบุคคลนั้นอาจต้องมีประสบการณ์ในสายงาน 1 - 2 ปี หรือผ่านการฝึกอบรมพร้อมมีใบรับรองอย่างเป็นทางการครับ
และคุณสมบัติสำคัญที่ต้องใช้ในงาน QA หรือที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งทุกองค์กรล้วนต้องการก็ต้องเป็นคนช่างสังเกต ,มีความละเอียด รอบคอบ ที่สำคัญต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี เพราะต่อให้เก่งด้านการวางแผนมากแค่ไหน แต่ถ้าเข้าใจอยู่คนเดียว สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจด้วยไม่ได้ ก็พังนะครับ
QC (Quality Control) หรือการควบคุมคุณภาพ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นนักปฏิบัติการเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่ตรงตามแผน มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าหรือบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ QA ได้วางแผนและกำหนดไว้ หากมีสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นไปตามาตรฐานต้องคัดแยกออกมาอย่างรวดเร็ว และการตรวจสอบนั้นก็ต้องดำเนินการตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการผลิต ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ
1. ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ (Raw Material) ต้องตรวจสอบวัตถุดิบทั้งหมดที่นำมาใช้เพื่อการผลิต โดยวัตถุดิบทุกชิ้นจะต้องมี Certificate of Analysis ซึ่งต้องทราบข้อมูลของผู้นำเข้าและผู้ขายอย่างชัดเจน จากนั้นก็ต้องทำการสุ่มตรวจวัตถุดิบด้วย
2. ตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ต้องตรงตามมาตรฐาน โดยการตรวจสอบตามขั้นตอนเหมือนกับการตรวจสอบวัตถุดิบ และจะต้องสุ่มตรวจบรรจุภัณฑ์ตาม AQL (เปอร์เซ็นต์สูงสุดของผลิตภัณฑ์ที่เสียในกระบวนการผลิตที่ยอมรับได้) ที่กำหนดไว้
3. ตรวจสอบคุณภาพเนื้อผลิตภัณฑ์ (Bulk) แบ่งการทดสอบเป็น 2 ลักษณะ คือ
3.1 การทดสอบทางกายภาพและทางเคมีของเนื้อผลิตภัณฑ์ (Physical Chemical Testing) ได้แก่ ลักษณะภายนอก (Appearance) ,สี (Color) ,กลิ่น (Odor) ,ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ (Viscosity)
3.2 การทดสอบเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อก่อโรคต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด (Microbiology Testing) โดยการส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO17025
4. ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการผลิต โดยจะมีตำแหน่ง QC Line ที่ต้องตรวจสอบไลน์การผลิต เช่น การสุ่มตรวจก่อนเริ่มไลน์ 10 ชิ้นแรก และสุ่มตรวจทุกชั่วโมง รวมถึงการตรวจสอบการติดสติกเกอร์ การใส่กล่อง ให้ตรงตามมาตรฐาน
5. ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finish Good) โดยการสุ่มตรวจว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่ พร้อมเก็บ Retain Sample ซึ่งเป็นการเก็บผลิตภัณฑ์สำหรับนำมาตรวจสอบภายหลังอีกครั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์เป็นครีมทาผิว ก็จะตรวจสอบคุณภาพของครีมในช่วงเวลาที่อยู่ในกำหนดวันหมดอายุ
ด้านวุฒิการศึกษา ส่วนใหญ่จะเปิดรับตั้งแต่วุฒิปวส. ขึ้นไป ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ และจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO มีความรู้ด้านเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในงาน จากประสบการณ์ในสายงาน 1 - 2 ปี หรือจากการฝึกอบรม
ส่วนคุณสมบัติที่เป็น Soft Skills ที่หลายองค์กรนำมาพิจารณารับเข้าทำงาน ก็ต้องเป็นบุคคลที่ ช่างสังเกต ,มีความละเอียด รอบคอบ ,มีไหวพริบ ,มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด และมีทักษะการสื่อสารที่ดีเช่นกันครับ
QS (Quantity Surveyor) หรือผู้ตรวจสอบปริมาณงาน มีหน้าที่ถอดปริมาณงานจากแบบที่ได้รับ สำรวจราคาเพื่อคำนวณงานสำหรับนำมาประเมินราคาของโครงการ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นนักพยากรณ์ ปริมาณงานและราคาของการดำเนินโครงการว่าจะเป็นอย่างไร และเมื่อพยากรณ์แล้วก็ต้องควบคุมงบประมาณ จัดทำเอกสารสำคัญด้านการจ่าย รวมถึงเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ด้านคุณสมบัติ ส่วนใหญ่จะเปิดรับตั้งแต่วุฒิป.ตรี ขึ้นไป ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ เช่นวิศวกรรม ซึ่งอาจต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) ,สถาปัตยกรรม หรือวิทยาศาสตร์การอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ QS ต้องเป็นผู้พยากรณ์ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ บุคคลที่ทำงานด้านนี้จึงต้องมีประสบการณ์ เพราะการดำเนินงานจะต้องตรงตามที่พยากรณ์มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ ส่วน Soft Skills ของ QS ก็ต้องช่างสังเกต ,ละเอียด รอบคอบ พร้อมมีทักษะการสื่อสารที่ดีเช่นเดียวกับ QA และ QC เลยครับ
นอกจากนี้ หลายองค์กรก็มีการกำหนดในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ เพราะอาจต้องร่วมงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นลูกค้าและเพื่อนร่วมงานก็เป็นได้ครับ หรือแม้แต่ประสบการณ์ทางด้าน QC ด้วยนะครับ เนื่องจากงาน QC จะทราบถึงความเป็นไปได้ของปริมาณงานที่สำเร็จและตรงตามมาตรฐาน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการประเมินงบประมาณของโครงการได้นั่นเองครับ
QA QC QS ต่างกันอย่างไร ? เห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับ
QA คือ นักวางแผน
QC คือ นักปฏิบัติการ
QS คือ นักพยากรณ์
อย่างไรก็ตาม 3 ตำแหน่งนี้ ก็ต้องมีการวางแผนของตนเองด้วย เพื่อให้ผลการดำเนินงานในหน้าที่ของตนเป็นไปตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการได้มากที่สุด
ที่สำคัญ การเป็นนักวางแผน นักปฏิบัติการ หรือนักพยากรณ์ ที่เก่งและทุกองค์กรต้องการ ต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ ซึ่งทักษะนี้ HR ก็จะทดสอบคุณตอนสัมภาษณ์ด้วยนะครับ
เตรียมตัวให้พร้อม แล้วคุณจะไม่พลาดแน่นอนครับ
มีโอกาสได้งานทันที เพียงสมัครเรซูเม่วันนี้ ฟรี คลิก >> https://jobbkk.com/go/jWldX
หางานด่วน เปิดรับกว่า 153,168 อัตรา คลิก >> https://jobbkk.com/go/YtvVO
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved