ผู้สมัครงาน
ปัจจุบันหุ่นยนต์หลายตัวในโรงงานประกอบรถยนต์ สามารถทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำกว่ามนุษย์ แถมยังไม่ต้องหยุดพักอีกด้วย แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ หากมีการทำงานผิดพลาด หุ่นยนต์เหล่านี้จะยังไม่เข้าใจและไม่สามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้
เฮนนี่ แอดโมนี่ รองศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน กล่าวว่า ความสามารถในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่ว่านี้ ต้องใช้ข้อมูลตามบริบทต่างๆ ซึ่งอยู่ในระดับที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ในหุ่นยนต์ ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจจึงไม่ใช่แค่ความสามารถในการรับรู้เเละเข้าใจในงานที่หุ่นยนต์สามารถทำได้ แต่หุ่นยนต์จะสามารถนำข้อมูลที่เข้าใจไปใช้งานด้านเหตุผลได้อย่างไร คือเรื่องที่น่าสนใจมากที่สุด ซึ่งจริงๆ ก็เกิดคำถามว่า ทำไมทีมวิจัยจึงไม่รวมเอาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเเละวิธีการแก้ไขทั้งหมดไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมหุ่นยนต์ตั้งเเต่แรก
เบื้องต้น รองศาสตราจารย์แอดโมนี่และทีมงานวิจัยซึ่งเป็นนักศึกษา กำลังพัฒนาโปรแกรมให้หุ่นยนต์ชื่อ Baxter ทดลองทำงานเป็นพนักงานร้านของชำ โดยทำหน้าที่ช่วยหยิบสินค้าใส่ถุงและใช้กล้องถ่ายภาพมาตรฐานร่วมกับกล้องถ่ายภาพเเสงอินฟราเรด เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์จดจำสิ่งของต่างๆ ได้
แต่การรวมข้อผิดพลาดเเละทางแก้เข้าไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของหุ่นยนต์ ไม่ได้มีประสิทธิผลเสมอไป เพราะความผิดพลาดอาจหลุดรอดการทำงานของหุ่นยนต์ เเละเมื่อเจอกับสถานการณ์ใหม่ หุ่นยนต์ก็ต้องพยายามเข้าใจงานใหม่ตรงหน้า เเละจะต้องตั้งข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับข้อผิดพลาดทั้งหมดอีกครั้ง
ณ ตอนนี้ ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาให้เข้าใจว่าหุ่นยนต์นำข้อมูลไปใช้อย่างไร แปลความหมายข้อมูลอย่างไร เพื่อช่วยให้ใช้งานได้ถูกต้องตามที่ต้องการ ซึ่งส่วนของการพัฒนาหุ่นยนต์ให้เข้าใจเเละแก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้ คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10-15 ปี
และเมื่อถึงตอนนั้น มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
ในการทำงาน มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดที่เป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่มีความแตกต่างกันไป ดังนั้น วิธีที่จะนำมาแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้ ย่อมต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้มนุษย์สามารถรับรู้พร้อมแก้ไขข้อผิดพลาดที่มีความต่างกันได้เร็วกว่า หรือเรียกว่ามีความสามารถที่จะแก้ไขได้ยืดหยุ่นมากกว่าหุ่นยนต์แน่นอน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ ณ ตอนนี้ มนุษย์ก็ต้องเร่งพัฒนาทักษะในการแก้ไขข้อผิดพลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ก่อนถึงวันที่หุ่นยนต์จะถูกพัฒนาให้มีความสามารถที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากกว่า
ขอบคุณข้อมูล : voathai
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved