พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

  • 11 พ.ค. 2563
  • 4176
หางาน,สมัครงาน,งาน,พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

บทความ “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” เขียนขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2558 เป็นบทความที่รวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการออมเงิน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายเพื่อให้พวกเราแสดงความรักต่อพระองค์ท่านด้วยการลงมือทำ

 

ตลอดช่วงที่ผ่านมาเราได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละอย่างนั้นน่าสนใจและคิดว่าควรรวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าไปเพิ่มในบทความเดิมจะทำให้เนื้อหายืดยาวเกินไป จึงเปลี่ยนมาเขียนแยกทีละเรื่อง เพื่อให้พวกเราได้อ่านง่ายขึ้นโดยแบ่งเป็น 5 เรื่อง คือ

  1. สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน (บทความนี้)
  2. เก็บออมเงินเพื่อซื้อของใช้ส่วนพระองค์ คลิกที่นี่
  3. การสร้างรายได้และการให้
  4. การประหยัด
  5. เงินฉุกเฉินของรัชกาลที่ 3 เงินถุงแดงไถ่บ้านเมือง

 

เราจะแบ่งเขียนออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นเรื่องราวของพระองค์ท่านจากข้อมูลที่ไปค้นคว้ามา จะเขียนไว้ในกรอบพื้นสีเหลือง ส่วนที่สองเป็นวิธีการนำไปใช้ว่าทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้พวกเราลองนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริงนะจ๊ะ พร้อมแล้วเริ่มเลยยยยย

 

ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

 

สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน  พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

ที่มาของภาพ http://node.king9moment.com/89years?_ga=1.117945353.1412739894.1482211365

 

เมื่อครั้งวัยเยาว์พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จย่าเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยแนวทางที่ว่า “ทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างสามัญชน เพื่อให้แต่ละพระองค์เรียนรู้ชีวิตธรรมชาติ ธรรมดา” จากการสอนแบบนี้ก็เป็นที่มาของการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเงินและเผยออกมาทางพระจริยวัตรต่างๆของพระองค์ท่านอีกด้วย ดังที่ได้ปรากฏในหนังสือ 3 เล่ม ดังนี้

 

หนังสือเล่มที่ 1 : ชื่อหนังสือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับการพัฒนาคุณภาพประชากร โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงพระกรุณาประทานพระดำรัช (หน้า 53-55)

ข้อความว่า…

 

“ในการประหยัดนั้นก็ได้จัดให้มีเงินค่าขนมหรือพอกเก็ตมันนี่ ท่านเองเคยได้รับสัปดาห์ละครั้งและเดือนละครั้ง ท่านสังเกตแล้วว่าสัปดาห์ละครั้งดีกว่ามาก เพราะว่าเดือนละครั้งขาดทุนได้น้อยกว่าต่อปี (1) (ผู้ฟังหัวเราะ)

ท่านก็เลย (สมเด็จย่า)มาให้ลูกๆท่านสัปดาห์ละครั้งตามอายุและก็ได้ไม่มากนัก  พอที่จะซื้อขนมพวกลูกหวาด หรือช็อคโกแลต แต่อาจจะซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเองเพราะของเล่นนั้น ส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้

เว้นแต่ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โตเราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ   แต่ของเล็กๆน้อยๆนั้น เราจะต้องซื้อเองและท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคารเมื่อมีจำนวนพอแล้ว”

————————————————————————————————————————-

(1) สมัยที่แม่ได้รับทุนของสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2460และพักอยู่กับครอบครัวอดัมเสน (Adamsen) ที่เมืองเบอร์คลี่ (Berkeley) แม่ควรได้รับเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวสัปดาห์ละ 1 เหรียญ แต่มิสซิสอดัมเสน ให้แม่ 4 เหรียญต่อเดือน ปีหนึ่งแม่จึงได้ 48 เหรียญ หากแม่ได้รับสัปดาห์ละเหรียญ แม่จะได้รับปีละ 52 เหรียญ จึงทำให้ขาดทุนไปปีละ 4 เหรียญ

 

 

หนังสือเล่มที่ 2  : ชื่อหนังสือ 100 เรื่องในหลวงของฉัน รวบรวมโดย วิทย์ บัณฑิตกุล (หน้า 34)

 ข้อความว่า…

 

“…สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านได้อบรม ท่านได้สั่งสอนด้วยวิธีการต่างๆ ที่ยังจำได้ เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ ไปอยู่เมืองนอกแล้ว ไปในเมือง ไปที่ร้านของเล่น แล้วอยากซื้อของเล่น อยากได้ จริงแล้วก็ไม่มีเงิน ไม่ได้เอาเงินไป เลยขอยืมผู้ใหญ่เป็นญาติซื้อของเล่น กลับมาท่านเห็นว่าซื้อของมา ท่านถามว่าเอาเงินอะไรไปใช้ บอกว่ายืมเขามา ท่านดุใหญ่ ท่านบอกว่าถ้าไม่มีเงินอย่าไปซื้อของ เป็นหนี้ใครไม่สมควร ท่านก็ถือว่าเป็นระเบียบสำคัญ ไปเป็นหนี้เป็นสินนั้นไม่ดี แม้จะเล็กน้อยมันก็พอกเข้าไป นี่ก็รับการสั่งสอนจากแม่ว่าไม่ให้เป็นหนี้…”

 

พระบรมราโชวาท ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา

วันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ย.2538

 

หนังสือเล่มที่ 3  : หนังสือเรื่อง ความสุขของพ่อ รวบรวมโดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (หน้า 43-44)

 ข้อความว่า…

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชทานหลักสำหรับการเลี้ยงดูลูกเอาไว้อีกด้วย        ดังที่ได้พระราชทานหลักในการอภิบาลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ให้แก่    พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองเจ้าศรีรัศมิ์ว่า “อย่าประคบประหงมลูกมาก ปล่อยให้เล่นเหมือนเด็กธรรมดา ให้มีภูมิคุ้มกัน เพราะต่อไปลูกจะต้องอยู่ด้วยตัวเอง ต้องดูแลตัวเองได้”

หลักการเช่นนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับหลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ในการช่วยราษฎรของพระองค์ คือ มิได้ช่วยโดยการแจกการให้อยู่ร่ำไป อันจะทำให้ผู้รับกลายเป็นคนทอดอาลัย เฝ้าแต่จะรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อื่น

แต่พระองค์ช่วยราษฎรโดยการช่วยเหลือให้ราษฎรสามารถตั้งหลัก ตั้งตัวได้ สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ต่อไป วิธีการเช่นนี้เองที่ได้ช่วยให้ราษฎรซึ่งเปรียบดั่งลูกของพระองค์มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

 

ภาพบัญชีฝากออมทรัพย์ในสมัยทรงพระเยาว์

 

สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน บัญชีเงินฝาก  พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน p10b

สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน สมุดบัญชีของในหลวงรัชกาลที่9  พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน p10e

สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน สมุดบัญชีในหลวงรัชกาลที่9  พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน p10f

 

 

แนวคิดที่สามารถมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

 

จากเรื่องเล่าเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า “แนวคิดการเงินข้อแรกที่สำคัญมากที่สุด คือ วิธีการอบรมสั่งสอน” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ลูกหลานของเรารู้ว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบันที่พ่อแม่มักตามใจลูกทุกอย่างจนกระทั่งทำให้เด็กเสียคนได้ ซึ่งแนวทางการอบรมสั่งสอนที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง ดังนี้

 

5 เรื่องวิธีจัดการเงิน

 

เรื่องที่ 1 การให้เงินรายเดือนหรือรายสัปดาห์

 

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับเงินค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง”

 

แนวคิดการสอนเด็ก

วิธีการให้เงินนั้นสำคัญ บางครอบครัวเด็กโตแล้วยังให้เงินเป็นรายวัน ทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีแบ่งเงินไว้ใช้เพราะรู้ว่าพรุ่งก็ได้เงิน ไม่ต้องรอนาน หากเปลี่ยนวิธีการให้เงินเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ทำให้เด็กรู้ว่าตนเองควรมีวิธีใช้เงินอย่างไร เพื่อให้มีเงินเหลือหรือพอใช้ก่อนที่จะได้รับเงินรอบใหม่

สมมติพ่อแม่ให้เงินลูกไปโรงเรียนวันละ 20 บาท แล้วลูกใช้หมดทุกวัน ลองเปลี่ยนมาให้สัปดาห์ละ 100 บาท จะทำให้ลูกเริ่มรู้จักวิธีการแบ่งใช้เงินอย่างไรให้มีใช้ตลอดทั้งสัปดาห์ แต่ถ้าเงินหมดแล้วลูกมาขอเพิ่ม พ่อแม่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ทางการเงินกับลูกด้วย โดยการสอบถามว่าลูกใช้เงินซื้ออะไร จะได้รู้สาเหตุที่เงินหมดเร็ว พร้อมอธิบายว่าเรื่องอะไรควรซื้อและไม่ควรซื้อ

 

แนวคิดให้คนวัยทำงาน

จากประสบการณ์แบ่งใช้เงินค่าขนมรายสัปดาห์ในวัยเด็กก็จะมีส่วนช่วยในการแบ่งใช้เงินตอนทำงานที่ได้รับเงินเป็นรายเดือนได้ ปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือนน่าจะลดลงได้ ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ  การแบ่งเงินให้ชัดเจน โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน คือ เงินออม หนี้สินและรายจ่ายส่วนตัว

เมื่อเงินเดือนเข้ากระเป๋าแล้วควรแบ่งไว้ที่กระเป๋า “เงินออม” ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วกระจายเงินออมออกเป็นระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว ตามเป้าหมายทางการเงินของเรา หลังจากนั้นก็นำเงินที่เหลือไปจ่ายหนี้สินต่างๆทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สุดท้ายเหลือเงินเท่าไหร่ก็ใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เรารู้ว่าเงินของเราไปอยู่ที่ไหนบ้าง สามารถสร้างหนี้เพิ่มได้อีกหรือไม่ ควรลดรายจ่ายอะไร รวมถึงรู้เลยว่าจะมีเงินใช้ถึงสิ้นเดือนหรือไม่

ตัวอย่าง : การแบ่งเงินออม 30% , หนี้สิน 30% และรายจ่ายส่วนตัว 40%

บัญชีเงินเดือนขั้นเทพ  พระมหากษัตริย์นักออม เดอะซีรีย์ ตอนที่ 1 สมเด็จย่าทรงสอนวิธีจัดการเงิน

ที่มา : บทความ 4 ขั้นตอนสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพ!! คลิกที่นี่

 

เรื่องที่ 2 การเก็บเงินสะสมซื้อของเล่นเอง

 

“ซื้อหนังสือหรือของเล่นซึ่งของพวกนี้ต้องซื้อเอง

เพราะของเล่นนั้นส่วนมากแล้วแม่จะไม่ได้ซื้อให้

 

เด็กกับของเล่นนั้นเป็นของคู่กัน เวลาเด็กอยากได้อะไรก็ร้องบอกให้ผู้ปกครองซื้อให้ จนบางครั้งทำให้เด็กเสียนิสัย ติดวิธีการได้ของเล่นมาง่ายๆ แล้วก็ทิ้งไปง่ายๆเช่นกัน แต่ถ้าได้ของเล่นมายากๆก็จะรักษาและเล่นอย่างทะนุถนอม เมื่อสมเด็จย่าไม่ซื้อของเล่นให้พระองค์ก็ต้องสะสมเงินซื้อเองหรือประดิษฐ์ของเล่นเองจากสิ่งของที่มีอยู่รอบตัว ทำให้มีความคิดต่อยอดออกไปเรื่อยๆ จึงกระทั่งกลายเป็น “กษัตริย์นักประดิษฐ์” อีกด้วย

 

เรื่องที่ 3 การให้ของขวัญในวันพิเศษ

 

“ในวันปีใหม่และวันเกิด จะได้ของเล่นที่สำคัญและใหญ่โต

เราอยากได้อะไรก็ขอไป บอกว่าอยากได้ของเล่นพวกนี้

ท่านก็บอกว่าถึงวันเกิดจะซื้อให้ จะไม่ซื้อพร่ำเพรื่อ

 

แนวคิดการสอนเด็ก

การให้ของขวัญพิเศษไม่ควรให้พร่ำเพรื่อ เพื่อฝึกความอดทน ให้เด็กเกิดการรอคอยและเห็นคุณค่าของขวัญที่ได้รับ ดังนั้น ควรเลือกให้ของขวัญในวันพิเศษจริงๆ เท่านั้น อาจจะเป็นช่วงปีใหม่และวันเกิดก็ได้ ไม่ควรตามใจเด็กโดยการซื้อของขวัญให้บ่อยมากเกินไปจนเหมือนทุกวันเป็นวันพิเศษ

 

แนวคิดให้คนวัยทำงาน

ถ้าเป็นคนวัยทำงานจะเรียกว่า “การให้รางวัลชีวิต” หลายคนทำงานเครียดก็ให้รางวัลตัวเองบ่อยมาก เพราะต้องใช้เงินให้สมกับความเหน็ดเหนื่อยที่หามา คิดว่าใช้เงินวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ก็หาเงินใหม่ได้ จึงใช้แบบไม่ระมัดระวังจนเกิดหนี้สิน ชีวิตพังเพราะให้รางวัลชีวิตมากเกินไป แต่ถ้าเราต้องการให้รางวัลชีวิตตัวเอง ก็ควรตั้งงบให้เรียบร้อยและใช้ตามงบที่ตั้งใจไว้ ไม่ควรใช้เกินเงินในกระเป๋าของตัวเอง

 

เรื่องที่ 4 การไม่เป็นหนี้

 

“ท่านบอกว่าถ้าไม่มีเงินอย่าไปซื้อของ”

 

            ควรอบรมตั้งแต่วัยเด็กว่าไม่ควรหยิบยืมเงินคนอื่น มีเท่าไหร่ก็ใช้เงินเท่านั้น ซึ่งการขอยืมเงินคนอื่นบ่อยๆ มันจะกลายเป็นนิสัยใช้เงินเกินตัว ถ้าเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วมีเงินไม่พอใช้ก็จะไปยืมพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง ถ้าไม่พอก็อาจจะไปกู้ยืมเงินจากช่องทางอื่นๆ เช่น ใช้บัตรกดเงินสด เงินกู้นอกระบบ ที่อาจจะเป็นการนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

 

เรื่องที่ 5 สอนให้ฝากเงินในธนาคาร

 

“ท่านก็สอนให้เอาเงินไปฝากธนาคาร เมื่อมีจำนวนพอแล้ว”

 

ควรปลูกฝังนิสัยการเก็บรักษาเงินมาตั้งแต่เด็ก โดยสร้างแรงจูงใจต่างๆ เช่น ออมเงินเป็นเพื่อนลูก จะได้ทำให้ลูกรู้สึกว่าการออมเงินเป็นเรื่องสนุก ถ้าออมเงินได้จำนวนหนึ่งแล้วพ่อแม่จะช่วยสมทบเงินออมเพิ่มขึ้น เช่น ออมได้ 100 บาท พ่อแม่สมทบให้ 50 บาท ซึ่งเป็นการสอนแนวคิดการลงทุนแบบอ้อมๆว่าถ้าเราออมเงินแล้วจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยหรือเงินปันผล

ทุกๆเดือนหรืออย่างน้อยทุกครึ่งปีควรพาลูกนำเงินที่หยอดในกระปุกออมสินไปฝากเงินในธนาคารแบบออมทรัพย์หรือว่าฝากประจำเพื่อให้เขาคุ้นเคยและเป็นการสร้างวินัยการออมเงินด้วย ควรสอนให้ดูสมุดบัญชีเงินฝากว่าเงินในกระปุกออมสินกลายเป็นตัวเลขนี้ แล้วทุกครึ่งปีจะมีเงินเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานต่อยอดเอาเงินไปลงทุนในอนาคตได้

 

แนวความคิดของสมเด็จย่านี้ล้ำสมัยตลอดเวลา ซึ่งบทความนี้น่าจะทำให้หลายๆคนนำไปประยุกต์ใช้ได้นะจ๊ะ ผู้เขียนตั้งใจเขียนออกมาด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย ทำให้มีบางข้อความไม่ได้เขียนคำราชาศัพท์ ผู้เขียนต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ถ้ามีอะไรทำให้ผู้อ่านไม่สบายใจรบกวน Inbox แจ้งได้เพจอภินิหารเงินออม  ได้เลยนะจ๊ะ ขอบคุณค่ะ

CR:aommoney.com/pajaree

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top